วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

แก่งสะพือ แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำมูลตอนใต้

แก่งสะพือ” แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำมูลตอนใต้

โดย ดร.เรวัต สิงห์เรือง  อุบลราชธานี


แก่งสะพือ แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำมูลตอนใต้
ความนำ

            มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มชน เป็นหมู่คณะที่มีวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ลงตัวสามารถพึ่งพากันได้ซึ่งต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวเกี่ยวพันร้อยรัดกันเป็นองค์กรเดียวกันซึ่ง อาจเป็นเพราะการสืบเชื้อสายเลือด ชาติพันธุ์ แนวคิด อุดมการณ์ แนวร่วม หรือผลประโยชน์ร่วมกันที่มีระยะเวลาที่ยาวนานหลายชั่วอายุคน รุ่นต่อรุ่น จำเป็นต้องมีข้อบัญญัติ แนวปฏิบัติ ข้อห้าม ร่วมกันหรืออาจเรียกว่า จารีตประเพณีที่ทุกคนต้องร่วมกันปฏิบัติสืบต่อกันมา จากแนวทางปฏิบัติร่วมกันนั้นเองทำให้เกิดสิ่งที่สวยงาม สิ่งที่ดีงามขึ้นมาแล้วส่งเสริมให้ชนกลุ่มนั้นมีการพัฒนาไปสู่ความเจริญที่เรียกว่า “อารยธรรม” คำว่า อารยธรรม นี้ได้มีรากมาจากคำภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า Civilization ซึ่งนักวิชาการทั่วไปให้ความหมายว่า การก่อเกิดงอกงามของ "ธรรม" หรือความดีงามธรรมของอารยชน ธรรมที่ทำให้เป็นอริยะ ในคำวัดใช้ว่า อริยธรรม หรือ อีกความหมายหนึ่ง อารยธรรม หมายถึงคุณธรรมที่เป็นหลักปฏิบัติของคนที่เจริญแล้ว หรือที่เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อความเป็นคนที่เจริญ อย่างต้นได้แก่เบญจศีลและเบญจธรรม อย่างกลางได้แก่สังวรมีปาติโมกขสังวรเป็นต้น อย่างสูงได้แก่โพธิปักขิยธรรมมีสติปัฏฐานเป็นต้น คุณธรรมเหล่านี้ยกระดับคนให้สูงขึ้นตามลำดับจนถึงเป็นพระอริยบุคคล

อารยธรรมของชุมชน และกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีนี้ เป็นชุมชนโบราณที่มีคตินิยม ค่านิยมของการรักพวกพ้อง มีความกตัญญูรู้คุณเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ มีการสร้างเครื่องรางของขลังขึ้น(สถาบันราชภัฏสวนดุสิต : 2543) และจากการสืบค้นจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทำให้ทราบว่า แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำมูลเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงชายขอบแอ่งโคราชที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 500 เมตรได้มีชนเผ่าโบราณอาศัยอยู่มานานประมาณยุคโลหะ อายุเฉลี่ยราว 2,700 – 1,500 ปี มีการดำรงชีวิตอยู่ตามถ้ำและเนินเขาได้เทียบเคียงกับการขุดค้นพบเครื่องมือ อาวุธ และเครื่องดำรงชีวิตที่บ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ ปี พ.ศ.2548 และที่บริเวณบ้านสะพือใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร ได้มีการขุดพบวัตถุโบราณที่เป็นหม้อ ไห ถ้วย ชามดินเผา กำไล และเครื่องมือสำริด ซึ่งพอสรุปได้ว่าในแถบลุ่มน้ำมูลตอนล่างบริเวณแก่งสะพือเคยมีมนุษย์โบราณอาศัยอยู่มานานแล้ว เคยเป็นแหล่งอารยธรรมมาก่อนดัง ปรากฏที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าจากบันทึกของนักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 14 อาณาจักรเจนละมีความเจริญรุ่งเรืองได้แผ่อิทธิพลมายังลุ่ม น้ำโขง จนถึงลุ่มน้ำมูลบริเวณแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีกษัตริย์องค์สำคัญของขอม คือพระมเหนทรวรมันหรือ เจ้าชายจิตเสนที่ปรากฏจาก “เทพเจ้าภัทเรศวร” หลักศิลาจารึกอักษรปัลลวะ ที่บริเวณ ปากมูลโดย(ประวัติเมืองโขงเจียม : 2540, 21)ได้แปล ข้อความได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดทรงพระนามว่าจิตเสน ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าศรีวีรวรมัน เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีสาร วเภามะ แม้โดยศักดิ์จะเป็นพระอนุชา แต่เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าศรีภววรมัน ผู้มีพระนามปรากฏในด้านคุณธรรมแต่พระเยาว์ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นได้รับพระนามอันเกิดจากการอภิเษกว่า “ พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน” ชนะประเทศทั้งปวงแล้ว ได้สร้างรูปโคอุสภะ ทำด้วยศิลาไว้ในที่นี้อันเป็นเสมือนหนึ่งความสวัสดีแห่งชัยชนะของพระองค์ ที่อาจส่งผลให้กับกลุ่มชนและประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณแก่งสะพือมีความเจริญและหวงแหนทรัพยากรทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1. เพื่อศึกษาประวัติ ความเป็นมาของอารยธรรมลุ่มน้ำมูลบริเวณแก่งสะพือ

2. เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาสู่ผู้สนใจทางการศึกษาขององค์ความรู้ที่เกิดขึ้น

3. เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาสู่การอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ต่อไป

แนวคิด ทฤษฎีในการศึกษา

ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ผู้ศึกษาวิจัยได้ศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionism) เป็นทฤษฎีวัฒนาการของวัฒนธรรม หรือพฤติกรรม

ของมนุษย์ โดยมี Edward B. Tylor ชาวอังกฤษ ที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง 1832 - 1917 ที่สรุปได้ว่า “วัฒนธรรมใดๆ จะมีวิวัฒนาการจากขั้นตอนที่ง่ายที่สุดไปจนถึงยุ่งยากที่สุด และพฤติกรรมของมนุษย์ทุกๆสังคมโลกจะต้องผ่านสามขั้นตอนที่ละขั้น ประกอบด้วย

1.1 ขั้นต่ำสุด ( Savagery) เป็นขั้นแรกของการเข้าสู่วัฒนธรรม

1.2 ขั้นที่ 2 ( Barbarism) เป็นพฤติกรรมหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างพฤติกรรมง่ายที่สุดไปสู่พฤติกรรมยากสุด

1.3 ขั้นเจริญงอกงาม ( Civilization) เป็นขั้นที่ได้รับการพัฒนาสูงสุด หรือขั้นอารยะ

2. ทฤษฎีประวัติศาสตร์ ( Historicalism ) เป็นทฤษฎีที่วิวัฒนาการมาจากทฤษฎีวิวัฒนาการ

(Evolutionism) ที่เกิดการหละหลวม โดยมี Franz Boas เป็นผู้ให้กำเนิด ที่เน้นการวิวัฒนาการผสมผสานกับการพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มี 2 มิติ คือ

2.1 ศึกษาเหตุการณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน ( Synchronic Study)

2.2 ศึกษาเหตุการณ์ในช่วงหลายเวลา ( Diachronic Study)

3. ทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ( Diffusionism) โดยแนวคิดของ Elliot Smith ซึ่ง

การแพร่กระจายของวัฒนธรรมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

3.1 หลักภูมิศาสตร์

3.2 ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

3.3 ปัจจัยทางสังคม

3.4 การคมนาคมขนส่งที่ดี

4. ทฤษฎีโครงสร้างทางวัฒนธรรม ( Structuralism ) ที่มีเจ้าของแนวคิดทฤษฎี คือ Claude

Levi – Strauss ) เชื่อว่าระบบความคิดของมนุษย์มีเหตุผล ที่สามรถเปรียบเทียบเป็นคู่ๆ และมีลักษณะเป็นคู่ในขั้วตรงข้ามที่สามารถอธิบายสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ทั้งในทางบวกและทางลบที่นำไปสู่การจัดระบบสังคมมนุษย์ได้
ในบริบทของบริเวณแก่งสะพือ ได้ปรากฏว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สืบต่อกันมาหลายๆชั่วอายุคน มีการเล่าขานเป็นตำนานของแหล่งงูใหญ่ในเกาะแก่งแห่งลำน้ำมูลที่มีความหมายในภาษาเขมร ว่า แก่งซำพรืด ตรงกับภาษาไทยว่า แก่งงูใหญ่ที่มาอาศัยอยู่ มาปกปักรักษาทรัพย์สมบัติที่ทรงคุณค่า บ้างก็ว่าเป็นทหารที่มารักษาเทวลัยในวัดสระแก้ว และศาลเจ้าพ่อพละงุม ที่มีวัตถุปรากฏมีให้เห็นดังนี้ คือ

1. ซากปราสาทหิน โดยสร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานเทวรูป

พระศิวะ ด้วยความเชื่อของพราหมณ์ที่ว่า เมื่อตายแล้วก็จะกลับเข้าสู่พรหม ปัจจุบันองค์ปราสาทได้ถูกทำลายลงไปด้วยของการเวลาและความอ่อนแอทางด้านพื้นฐานด้านการศึกษาในราวปี พ.ศ. 2490 ยังคงเหลือแต่พื้นศิลาปรากฏที่ใต้ร่มศรีมหาโพธิ์ของวัดสระแก้วซึ่งมีการสร้างคู่กันกับปราสาทหินนี้อีกฟากของแก่งสะพือ ที่มีลำน้ำมูลคั่นกลางที่ปรากฏในบริเวณโรงเรียนบ้านสะพือใต้ อำเภอพิบูล มังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีขณะที่โบราณสถานที่รายล้อมรอบเขานั้น มีตั้งแต่บ่อน้ำ สระน้ำโบราณ ตามหลักสถาปัตยกรรมในการปลูกสร้างตามรูปแบบความเชื่อเรื่องศูนย์กลางของจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของสถานดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

2. ใบเสมา เป็นหินทรายสีแดงที่บ่งบอกถึงความเจริญทางอารยธรรมของชนเผ่าที่แสดงถึงขอบเขตการขยายตัวของความเชื่อและศาสนาได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของใบเสมาในเขตของภาคอีสานยังมีอีกมากมาย เช่น เสมาหินบ้านบุ่งผักก้ามถูกค้นพบที่วัดพัทธสีมาราม บ้านบุ่งผักก้าม ตำบลวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นเสมาหินที่มีการกำหนดอายุโดยวิธีทางโบราณคดี โดยใช้วิธีเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์ และศิลปะโดยศึกษาจากศิลปะโบราณวัตถุ สถานที่ที่มีลักษณะรูปแบบลวดลายใกล้เคียงกันและเปรียบเทียบกับศิลปะโบราณวัตถุจากประเทศใกล้เคียงและคัมภีร์ที่ให้อิทธิพลการกำหนดรูปแบบสลักบนใบเสมา จึงกำหนดอายุได้ว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13-16 มีอายุไม่ต่ำกว่า 900 – 1,200 ปี เป็นแบบศิลปะทวาราวดี เสมาหินที่พบมีทั้งสภาพสมบูรณ์และชำรุดปักรวมกันอยู่ในบริเวณวัดพัทธสีมาราม ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว บางใบเป็นหินทรายสีแดงมีขนาดใหญ่เล็กปะปนกันตรงกลางมีลวดลายรูปสถูปเจดีย์ประดับอยู่เกือบทุกใบ บางใบเป็นหม้อ "ปูรณฆฏะ" ประกอบลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ใบเสมาทั้งหมดสามารถจำแนกได้เป็น 7 กลุ่ม คือ กลุ่ม

ที่มีรูปทรงใกล้เคียงหินธรรมชาติ กลุ่มที่สลักเป็นแผ่นเรียบมีรูปร่างค่อนข้างแน่นอน กลุ่มที่สลักเป็นหม้อปูรณฆฏะมีสถูปตอนบน กลุ่มที่สลักเป็นหม้อปูรณฆฏะสถูปตอนบนประกอบลายพันธุ์พฤกษา

กลุ่มที่สลักเป็นหม้อปูรณฆฏะ 2 ชั้น 3 ชั้น ประกอบลายพันธุ์พฤกษา กลุ่มใบเสมาที่เป็นเสาแปดเหลี่ยมฐานบัวปลายสอบเข้าหากัน จำนวน 1 ใบ และใบเสมาที่มีอักษรประกอบ 1 ใบ

ใบเสมาหิน อยู่ที่ตลาดบ้านม่วง อำเภอม่วงสามสิบ ตั้งอยู่บนเนินดิน มีกลุ่มใบเสมาศิลาแลงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสระน้ำโบราณอยู่หนึ่งกลุ่ม เป็นกลุ่มใบเสมาแบบแผ่นหินทรงใบหอกยอดโค้ง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15- 16

ใบเสมาหินทราย และพระพุทธรูปปางนาคปรก อยู่ที่บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน รวมรวมจากเนินดินรูปครึ่งวงกลม อันเป็นที่ตั้งวัดทุ่งศรีไล มีซากโบราณสถานสร้างจากหินทรายแดง ศิลปะทวาราวดีตอนปลาย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ส่วนพระพุทธรูปเป็นศิลปะเขมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 - 18

3. ฐานศิวลึงค์ อุโรจนะเป็นฐานที่ตั้งศิวลึงค์ที่รอบ ๆ ฐานมีภาพจำหลักที่มีลักษณะคล้าย เต้านมหญิงสาว ประติมากรรมนี้สร้างขึ้นมาเพื่อตามคตินิยมให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงชาวโลกให้มีชีวิตที่บริบูรณ์ เป็นหินทรายสีแดงอมชมพู ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อก่อนที่จะมีพระศิวะนั้น ได้มีความเชื่อกันว่า ในจักรวาลมีแต่ความมืดและว่างเปล่า ไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืน มีเพียงสิ่งเดียวที่ปรากฏคือ สัตพรหมณ์ เป็นโยคีผู้เป็นอมตะ เป็นหนึ่งเดียวไม่มีเริ่มต้นและสิ้นสุดหรือดับสูญ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นที่รวมแห่งสรรพปัญญาและความรู้ทั้งมวล แต่ไม่มีรูปร่างมีแต่ความปรารถนาที่จะสร้างสิ่งทั้งหลายขึ้นมา จึงบังเกิดเป็นรูปร่างขึ้นมาจากพลังงานและอำนาจของความรู้และปัญญาที่มีอยู่ ล่องลอยไปทุกหนทุกแห่ง มองเห็นได้ รูปร่างนี้เป็นจุดกำเนิดของสิ่งทั้งหลายที่จะเกิดตามมาภายหลัง เป็นรูปร่างในสภาวะจิต เป็นพรหมณ์สูงสุดบรรดานักปราชญ์และฤษีในสมัยโบราณได้ขนานนามรูปร่างนี้ว่า พระศิวะ จากนั้นพระศิวะได้สร้างสิ่งต่างๆให้เกิดตามมาโดยการแบ่งภาคมาจากพระองค์เอง โดยให้เกิดเป็นหญิงคือนางอุมาเทวี ซึ่งเป็นมารดาแห่งเทพทั้ง 3 คือ พระวิษณุ พระพรหมและพระศิวะ โดยมีพระศิวะเป็นเทพสูงสุด และได้สร้างศิวโลกเพื่อเป็นที่ประทับ เมื่อสร้างสิ่งต่างๆไว้มากมายแล้ว พระองค์จำเป็นต้องมีการคุ้มครองสิ่งเหล่านั้น และทำลายสิ่งที่ไม่ดีออกไป เหลือไว้แต่สิ่งที่ดี พระองค์จึงทรงหลั่งน้ำอำฤตลงบนซีกด้านซ้ายและเกิดชีวิตใหม่ขึ้นมา และประทานนามให้ว่า พระวิษณุ ( หรือพระนารายณ์ แปลว่า ผู้มีแผ่นน้ำเป็นที่อาศัย ทั้งนี้เพราะว่าพระวิษณุชอบลงไปพักผ่อนอยู่ในน้ำ หรือที่คนไทยเรารู้จักกันดีในนามของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์นั่นเอง) โดยให้มีหน้าที่คอยคุ้มครองรักษาสิ่งทั้งหลายที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมา แล้วองค์พระศิวะเองก็จะเปลี่ยนเป็นพระผู้ทำลาย คือทำลายสรรพสิ่งทั้งหลายถ้าบังเกิดความไม่ดีขึ้นมาจนแก้ไขไม่ได้แล้วนั่นเอง โดยมีดวงตาที่ 3 อยู่บนหน้าผากซึ่งปิดสนิท ถ้าพระองค์ลืมตาขึ้นมาก็จะเกิดไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างในขณะที่พระวิษณุได้บำเพ็ญสมาธิอยู่เป็นเวลาถึง 12,000 ปี โดยได้เสด็จไปบรรทมอยู่ในน้ำ ก็ได้เกิดมีดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี (สะดือ) ซึ่งเป็นบัญชาของพระศิวะ และพระศิวะได้หลั่งน้ำอำฤตลงบนซีกขวาเพื่อให้ได้ชีวิตใหม่คือ พระพรหม และใส่ไว้ในดอกบัวนั้น พระพรหมหรือพระผู้เกิดมาจากดอกบัว ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาได้อย่างไร และใครเป็น ผู้สร้าง เมื่อออกมาจากดอกบัวแล้ว ได้เขย่าดอกบัวจึงบังเกิดเป็นมนุษย์ชาติ และสรรพสิ่งทั้งหลาย ในโลก

ชาวฮินดูจึงเรียกพระพรหมว่า พระผู้สร้างพระวิษณุได้กล่าวปลอบพระพรหมโดยเรียกพระพรหมว่าเป็นเด็กน้อย เพราะพระพรหมนั้นเกิดมาจากดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจากพระนาภีของพระองค์เอง พระพรหมเมื่อถูกเรียกอย่างนั้นก็ไม่พอใจ จึงเกิดการรบกันขึ้น ร้อนไปถึงพระศิวะ เมื่อทราบว่าเทพทั้งสองกำลังต่อสู้กันอยู่ จึงเสด็จมา ณ. สถานที่ๆกำลังรบกันอยู่ โดยแปลงตัวเป็นเสาไฟขนาดใหญ่ซึ่งหาที่สิ้นสุดมิได้ทั้งบนและล่าง แล้วมาปรากฏอยู่ระหว่างเทพทั้งสอง เสาไฟนี้มีความร้อนมาก ทำให้เทพทั้งสองหมดสติไป เมื่อฟื้นขึ้นมาก็แปลกใจในความใหญ่โตหาที่สิ้นสุดมิได้ เทพทั้งสองจึงพนันกันว่า ถ้าใครค้นหาจุดสิ้นสุดได้ก่อนถือว่าเป็นผู้ชนะ และผู้แพ้ต้องยอมกราบไหว้บูชา พระพรหมจึงแปลงร่างเป็นหงส์ ขนสีขาว ปีกกว้างใหญ่ บินขึ้นไปหาส่วนยอดด้านบน พระวิษณุแปลงร่างเป็น หมูป่าสีขาว ร่างใหญ่ดุจเขาพระสุเมรุ สูง 10 โยชน์ ยาว 100 โยชน์ เขี้ยวยาวแหลมคมขุดดินลงไปหาปลายที่ด้านล่าง ด้านพระพรหมในร่างของหงส์ เมื่อบินขึ้นไปก็หาจุดสิ้นสุดมิได้ แต่ได้พบดอกเกตกี (ดอกเกตุ) พระพรหมจึงได้สอบถามถึงที่มาของดอกเกตกีและยอดของเสาไฟ ซึ่งดอกเกตกีก็บอกว่าตกลงมาจากส่วนหนึ่งของเสาไฟนี้แม้อยู่กับเสาไฟนี้ก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่าอยู่ส่วนไหนของเสาพระพรหมเกิดความคิดที่จะเอาชนะพระวิษณุทุกรูปแบบ จึงสั่งให้ดอกเกตกีให้มาเป็นพยานเท็จแล้วทรงเสด็จกลับลงมาพร้อมกับดอกเกตกีนั้นฝ่ายพระวิษณุเมื่อไม่พบอะไรก็กลับขึ้นไปยังที่เดิม และพบพระพรหมนำดอกเกตกีลงมาจากข้างบน ก็เข้าใจว่าพระพรหมพบส่วนยอดแล้ว ซึ่งพระพรหมโกหกว่าพบจริง โดยมีดอกเกตกีเป็นพยาน พระวิษณุก็ยอมแพ้และกราบไหว้บูชาพระพรหมตามสัญญาเมื่อเรื่องกลายมาเป็นเช่นนี้ พระศิวะจึงได้คืนร่างมาดังเดิม และชำระความให้แก่เทพทั้งสอง โดยกล่าวว่าพระวิษณุเป็นเทพที่มีความซื่อสัตย์ จึงยกให้พระวิษณุเป็นเทพเสมอพระองค์ สามารถที่จะมีโบสถ์และพิธีกรรมทางศาสนาเป็นของตนเองได้ ส่วนพระพรหมซึ่งเป็นผู้ไม่ซื่อสัตย์ พระศิวะได้ทำโทษ โดยการตัดเศียรทั้ง 5 แต่พระวิษณุได้ขอร้องไว้ จึงตัดไปเพียง 1 เศียรเหลืออยู่ 4 เศียร และไม่อนุญาตให้ขึ้นมาเป็นเทพเทียบเท่าพระองค์ และไม่ให้มีโบสถ์และพิธีกรรมทางศาสนาเป็นของตนเอง แต่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศิวะ และเป็นผู้สร้างมนุษยชาติ จึงอนุญาตให้มีศาลหรือเทวะสถานอยู่นอกโบสถ์ และให้พระพรหมเป็นประธานของพิธีบวงสรวงทั้งมวล ส่วนดอกเกตกีที่มีส่วนร่วม ในการไม่ซื่อนั้น พระศิวะได้ห้ามนำมาใช้ในการกราบไหว้เสากลมนี้ภายหลังย่นลงมาให้เป็นเสาขนาดเล็กทำด้วยแท่งหินสีดำซึ่งเรียกกันว่าแท่งศิวลึงค์ มีลักษณะคล้ายกับอวัยวะเพศของเพศชาย ศิวลึงค์แท่งเดียวจะมีลักษณะเป็นตรีมูรติ คือรวมพระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหมเข้าด้วยกัน โดยส่วนโคนของศิวลึงค์เป็นทรง 4 เหลี่ยมเรียกเป็นพรหมภาค ส่วนกลางเป็น 8 เหลี่ยมเรียกวิษณุภาค ส่วนบนสุดเป็นทรงกลมเป็นรุทรภาค การบูชาศิวลึงค์จึงได้ชื่อว่าบูชาเทพเจ้าทั้งสามองค์ไปพร้อมๆกัน วันที่แท่งไฟกลมปรากฏถือเป็นวันศิวาราตรี ( ตรงกับเดือนมารคสิระ หรือเดือนอ้าย) ในวันนั้น ศาสนิกชนชาวฮินดูจะประกอบพิธีบูชา งดอาหาร เว้นจากความรู้สึกทางเพศ และจะทำพิธีบูชาในลิงคสถาน

ในอีกคัมภีร์ฮินดูโบราณนั้นได้มีการบันทึกไว้ว่า ในวันหนึ่งพระศิวะกำลังร่วมภิรมย์เสพสมกับพระแม่อุมาอัครมเหสีอย่างแสนสุขสันต์ในวิมารของพระองค์บนเขาไกรลาส แต่การ เสพสมภิรมย์รักนี้มิได้กระทำกันในห้องบรรทมส่วนพระมิได้กระทำกันในห้องบรรทมส่วน พระองค์แต่อย่างใด การสมสู่ชู้ชื่นครั้นนี้ พระศิวะและพระแม่อุมาทรงกระทำกันกลางท้องพระโรงเลยทีเดียว ดังนั้นบังเอิญเมื่อพวกทวยเทพทั้งปวงที่กำลังจะมาเข้าเฝ้าพระศิวะ ได้พบเห็นเข้าก็จึงรู้สึกว่าพระศิวะนั้นกระทำการอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่งหากทรงกระทำกันในห้องบรรทมส่วนพระองค์ ก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด แต่หน้าท้องพระโรงนั้นเป็นที่เปรียบเสมือนห้องรับแขก ที่ย่อมจะต้องมี ผู้คนผ่านเข้าออกได้เสมอ และเมื่อทวยเทพผ่านพบเห็นเข้าว่าองค์พระศิวะที่เป็นถึงมหาเทพ ผู้เป็นใหญ่แห่งเขาไกลลาส กำลังเสพสังวาสกับอัครมเหสีอย่างประเจิดประเจ้อกลางท้องพระโรงเช่นนั้นจึงพากันรังเกียจเดียดฉันและเสื่อมศรัทธาในองค์พระศิวะเป็นอย่างมากบรรดาทวยเทพจึงได้พากัน เย้ยหยันและหมดสิ้นความนับถือ ยำเกรงในองค์มหาเทพ ต่างก็พากันยืนดูแล้วก็วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเห็นเป็นเรื่องที่น่าสมเพชไป ด้วยเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น พระศิวะให้ทรงอัปยศอดสู่ในพระทัยเป็นยิ่งนัก และประกอบกับความโกรธกริ้ว พระศิวะจึงทรงได้ประกาศว่าอวัยวะเพศของพระองค์นี้แหละ จะเป็นเสมือนสัญลักษณ์และตัวสำเร็จอันงดงามในชีวิตและอวัยวะเพศหรือศิวลึงค์นั้น ก็จะมีดวงตามหาศาลล้อมรอบศิวลึงค์ถึง 1,000 ดวงตา เพื่อแทนของพระองค์ ที่บรรดามนุษย์และเทพเทวะทั้งปวง จะต้องกราบไหว้บูชาถ้าต้องการความสุขและความจะได้สามารถมองเห็นได้เด่นชัดในทุกทิศทุกทาง โดยดวงพระทัยและดวงพระวิญญาณขององค์พระศิวะจะสถิตอยู่ด้วย เพื่อคุ้มครองและอำนวยพรให้กับผู้ที่สักการะบูชาศิวลึงค์นั้น เมื่อได้ทรงแล่นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์มาในขณะที่กำลังเกิดความกริ้วและความอัปยศเป็นที่สุดนั้น ถ้อยคำอันศักดิ์สิทธิ์จึงได้บังเกิดสัมฤทธิ์ผลเป็นจริงรื่องราวการกำเนิดศิวลึงค์ในบางคัมภีร์นั้น ก็กล่าวแตกต่างออกไป โดยเล่าว่าพระศิวะนั้นค่อยข้างจะมี พระอารมณ์ทางราคะค่อยข้างสูง และโปรดที่จะเสพสังวาสกับพระแม่อุมาอัครมเหสีและพระชายาองค์อื่นอีกในทุกวี่วันเลยทีเดียว จนเป็นที่รู้กันทั่วไปในเหล่าเทพเทวะทั้งปวงดังนั้นบรรดาศิษยานุศิษย์หรือชาวบ้าน ทั่วไป จึงได้เริ่มทำรูปเคารพเป็นรูปศิวลึงค์กันบ้างและก็ทำการสักการะบูชากันเป็นที่กว้างขวางแพร่หลายต่อหลายต่อไป จนเกิดเป็นลัทธิการบูชาศิวลึงค์ขึ้นจริงจังในยุคต่อๆมาลักษณะของ ศิวลึงค์ คือ อวัยวะเพศชายทรงกระบอก ตามตำนานของพราหมณ์ได้บันทึกไว้ว่า บริเวณส่วนปลายของทรงกระบอกจะมีหัวพันหัวหันไปทุกทิศ ส่วนกลางของอวัยวะเพศ คือ ดวงพระเนตรของพระศิวะ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมหมายถึงพระบาทพระศิวะ แต่ส่วนใหญ่ที่พบเห็นจะปรากฏว่ามีในลักษณะ “โยนี" (อวัยวะเพศหญิง ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า อุมาลึงค์) ที่เป็นฐานรองรับของศิวลึงค์ ซึ่งลักษณะของโยนี คือ รูปทรงกลม โดยเป็นฐานของอวัยวะเพศชาย ตรงกลางของรูปอวัยวะเพศหญิงจะเป็นร่องเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไว้ให้รูปอวัยวะเพศชายแท่งทรงกระบอกสอดใส่ลงไป การประดิษฐ์สิ่งทั้งสองให้อยู่รวมกันนั้น คือเหตุของทุกสิ่งในโลกเป็นที่มาของการเกิดชีวิต ความสมบูรณ์ซึ่งถือเป็นตัวแทนพระศิวะและพระอุมาเทวีโดยตรง

เพื่อทำให้สังคมโลกบังเกิดความสันติและความสงบสุขในสมัยโบราณปรากฏที่ประเทศอินเดียอันเป็นแหล่งอารยะธรรมเก่าแก่ของโลกแห่งนี้แล้วให้ทราบเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปได้เลยวัตถุโบราณที่ถูกสร้างสรรค์ให้เป็นรูปอวัยวะเพศชายนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะที่ผู้คนนิยมสักการะบูชากันตั้งแต่อดีตโบราณตราบจนปัจจุบันนี้ด้วยความเคารพศรัทธากันอย่างกว้างขวาง ศิวลึงค์เป็นเสมือนรูปเคารพแทนพระองค์ ที่มีปรากฏอยู่ในเทวสถานทุกแห่ง และก็มีธรรมเนียมประเพณีที่จะจัดพิธีกรรม เพื่อบูชาศิวลึงค์นี้โดยเฉพาะอีกด้วยซึ่งการที่ประทานรูปเคารพเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากในงานบูชาตรีมูรติ หรือมหาเทพทั้ง 3 ซึ่งประกอบไปด้วยพระพรหม พระวิษณุและพระศิวะ ที่จะต้องแสดงพระวรกายให้สาวกได้เห็นเป็นบุญตาซึ่งพระพรหมก็จะปรากฏพระวรกายออกมาในรูปลักษณ์ที่มี 4 พักตร์ 4 กร ส่วนพระวิษณุก็จะปรากฏพระวรกายมาในรูปลักษณ์ที่เป็นมหาเทพมี 1 พระพักตร์ 2 พระกร แต่สำหรับพระศิวะนั้นทรงปรากฏพระวรกายในรูปกายที่แปลกแหวกแนวสักหน่อยคือไม่ปรากฏออกมาเป็นรูปองค์เทพโดยตรงแต่กลับแสดงพระวรกายให้ปรากฏออกมาเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชายไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือมหาเทพนั่นเอง

จึงกล่าวได้ว่าสัญลักษณ์ของพระศิวะมหาเทพนี้ค่อนข้างจะแตกต่างกับมหาเทพองค์อื่นๆตรงที่มีสัยลักษณ์แทนพระองค์เป็นรูปอวัยวะเพศชาย ที่ดูค่อนข้างจะพิสดารมิใช่น้อยและชวนให้ฉงนสงสัยในความเป็นมาแห่งสัญลักษณ์นี้จึงกล่าวได้ว่าสัญลักษณ์ของพระศิวะมหาเทพนี้ค่อนข้างจะ แตกต่างกับมหาเทพองค์อื่นๆตรงที่มีสัยลักษณ์แทนพระองค์เป็นรูปอวัยวะเพศชาย กำเนิดของศิวลึงค์นั้นปรากฏเป็นเรื่องราวที่ค่อนข้างจะแปลกแยกแตกต่างกันออกไป ตามแต่ละคัมภีร์ แต่ละในศาสนาต่าง ๆ ทางคติพราหมณ์ซึ่งบางตำราก็กล่าวว่าองค์พระศิวะนั้นทรงตั้งพระทัยที่จะประทานรูปศิวลึงค์หรือรูปเคารพที่เป็นรูปอวัยวะเพศชายที่ให้กับสาวกทั้งหลาย ทั้งปวงของพระองค์ได้สักการะบูชาแทนพระองค์ สำหรับในเมืองไทย จะหาดูศิวลึงค์ได้ที่ภูเขาจำลองพบอยู่ภายในวัดโพธิ์และที่ปราสาทหินพนมรุ้ง หากท่านผู้อ่านจะเชื่อหรือไม่กับความเชื่อของศาสนาฮินดูนี้ก็ตาม แต่เพื่อการศึกษาทางด้านศิลปวัฒนธรรมและปรัชญาแล้ว เราไม่ควรมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปเสียเลย เชื่อได้ว่าศาสนาฮินดูเป็นศาสนาหนึ่งที่มีความต่อเนื่องมาจากความเชื่อของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในการที่จะทำให้สังคมมีสันติและความสงบสุขในสมัยโบราณ ตราบจนปัจจุบันนี้ด้วย

4. แผ่นศิลาอักษรปัลลวะ เป็นหินทรายสีน้ำตาล ขนาดกว้าง 26 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร หนา 18 เซนติเมตร ซึ่งมีเรื่องราวมากมายหลายเรื่องซุกซ่อนอยู่ในแผ่นศิลาแต่ละแผ่นและอาจจะ จดบันทึกเรื่องราวของการสร้างปราสาทแห่งนี้ หรือเรื่องราวที่รอการศึกษาค้นคว้าเพื่อไขปริศนา ปรากฏว่าได้ชำรุด และกระเทาะเป็นบางแห่งจึงทำให้ตัวอักษรเลอะเลือนและขาดหายไปยังคงเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้นได้มีข้อความบางตอนที่กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของภูมิประเทศและการแผ่ขยายทางศาสนา เรียกกันว่า “ศิลาจารึกวัดสระแก้ว” ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

5. ทับหลังวัดสระแก้ว โดยเดิมทีได้มีการขุดค้นพบทับหลัง จำนวน 2 แผ่น ซึ่งในแต่ละ

แผ่นนั้นมีลวดลาย เรื่องราวที่มีความแตกต่างกัน และอาจเป็นคนละสมัยก็เป็นได้ ซึ่งลักษณะของทับหลังนั้นจะอยู่ในตำแหน่งของส่วนบนของกรอบประตู แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ทับหลังจริง ทำหน้าที่รับและถ่ายน้ำหนักของส่วนบนของอาคารให้น้ำหนักนั้นเฉลี่ยและถ่ายลงบนทั้งสองข้างของกรอบประตูซึ่งมีเสารองรับอยู่ ส่วนทับหลังประดับนั้นวางอยู่เป็นส่วนหนึ่งของทับหลังจริง ใช้ประดับซุ้มประตูโดยมีการสลักลวดลายต่างๆโดยไม่มีหน้าที่รับนำหนักอาคารปลายทั้งสองด้าน

ทับหลังแผ่นที่ 1 ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จัดอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเมงมีลักษณะเป็นหินทรายสีแดงอมชมพู เป็นลายพฤกษาวกกลับเข้าด้านใน ที่วงโค้งนี้มีวงกลมรูปไข่คั่นอยู่ 3 วง ภายในวงกลมรูปไข่ไม่มีการสลักรูปใด ๆ ไว้ ใต้วงโค้งทำเป็นลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงดอกไม้ ลักษณะลวดลาย คลี่คลายมาจากลวดลาย ดังนั้นรูปแบบนี้คงอยู่ในศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง อายุราว มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 12 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 13 รูปร่างตอนกลางสลักลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแทนลายวงโค้ง มีลายอุบะดอกไม้ห้อยลงด้านล่าง และลายช่อดอกไม้ด้านบน ที่กรวยด้านข้างสลักลายดอกไม้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมมีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง

ทับหลังแผ่นที่ 2 เป็นศิลปะเขมรแบบถาราบริวัตร ได้นำไปเก็บไว้ที่โบสถ์วัดสุปัฏนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ของวงโค้งสลักเป็นลายพฤกษาวกกลับเข้าด้านใน ที่วงโค้งนี้มี วงกลมรูปไข่คั่นอยู่ 3 วง ภายในวงกลมรูปไข่ไม่มีการสลักรูปใด ๆ ไว้ ใต้วงโค้งทำเป็นลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงดอกไม้ ลักษณะลวดลาย คลี่คลายมาจากลวดลาย แบบสมโบร์ไพรกุก

6. พระพือ เป็นแผ่นหินทรายที่จารเป็นลายเส้นรูปสตรีในท่าประทับนั่งทรงจักรทางหัตถ์ขวาและดอกบัวทางหัตถ์ซ้ายเป็นสัญญลักษณ์แทนพระนางอุมาเทวี พระมเหสีของพระศิวะ เป็นหินทรายสีแดงอมชมพู ค้นพบที่ร่องน้ำกลางแก่งสะพือที่เรียกว่า “แปวเดือนห้า”ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ชนโบราณได้เคารพนับถือสืบมาจนปัจจุบันและได้มีการนำออกมาให้ประชาชนในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เคารพสักการะและสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ทุกปีแล้วจึงนำไปเก็บรักษาไว้ในอุโบสถของวัดสระแก้วในราวปีพ.ศ.2506ได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จนถึงปัจจุบัน

7. สระแก้ว เป็นสระน้ำโบราณที่ขุดขึ้นคู่กับปราสาทหินตามความเชื่อของขอมที่ประกอบ คู่กับปราสาทหินเพื่อที่จะให้เป็นที่ชำระร่างกายก่อนที่จะเข้าสู่พิธีกรรมทางศาสนาทำให้ร่างกายเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ชุ่มชื่นแก่ตน มีความยาว 79 เมตร กว้าง 35 เมตร ลึก 3 เมตร ที่มีแม่น้ำมูลที่เป็นลำน้ำสายนี้ที่ผู้คนปลายน้ำจำเป็นต้องใช้ดื่ม ใช้กิน แต่เราต้องดูว่าน้ำไหลไปถึงไหนทำให้เห็นว่า ผู้คนจะสัมพันธ์กับสายน้ำมีวิถีชีวิตผูกพันกับ แม่น้ำมูล เพราะหลังประกอบพิธีกรรมลำน้ำทั้งสายจะกลายเป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นสายน้ำบริสุทธิ์ สายน้ำจะแสดงความมั่งคั่งของชนเผ่าลำน้ำมูลสายนี้อาจเชื่อว่าได้ไหลลงมาจากยอดเขาคล้าย ๆ กับ แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย เป็นเรื่องราว ความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งพิธีกรรมที่จะกระทำในสระน้ำจะต้องมีผู้แทนแต่งการนุ่งขาว ห่มขาว แล้วจุดธูป เทียน ดอกไม้ไปจุดบูชาเทพารักษ์ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แล้วตักน้ำไปประกอบ พิธีกรรม

8. เจ้าพ่อพละงุม เป็นมเหศักดิ์ของชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่เคารพนับถือกันมาก บางความเชื่อกล่าวว่าเป็นเชื้อเจ้าชาวเมืองจำปาศักดิ์ ที่มาตรวจราชการได้ถึงแก่ อนิจกรรมลงที่ข้างสระแก้ว เหล่าทหารจึงฝังศพพละงุมพร้อมกับแก้วแหวนเงินทอง อาวุธ ไว้ที่นั่น หรืออีกนัยหนึ่งอาจเป็นทหารที่ปกปักรักษา คุ้มครองปราสาทหินที่สร้างขึ้นมาดังปรากฏตามแผ่นหินที่ค้นพบเป็นรูปแกะสลักเป็นเทวรูปบนหินทรายที่รอการไขปริศนาอยู่ ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันได้มีการสร้างศาลขึ้นโดยคนไทยเชื้อสายจีนพิบูลมังสาหาร อย่างสวยงามเพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะโดยมีพิธีบวงสรวงบูชาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี

ในลักษณะของมเหศักดิ์ ที่ชาวอีสานได้นับถือยกย่อง ศรัทธามาตั้งแต่ในสมัยโบราณก่อนที่จะมีการนับถือศาสนาพุทธ ชาวอีสานเชื่อกันว่าเป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วยังคงดูแลคุ้มครองลูกหลานให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข กระทำแต่ความดี มีความรักใคร่สามัคคีกันที่มีนางเทียม หรือ เฒ่าจ้ำ เป็นสื่อกลางที่ดวงวิญญาณสามารถติดต่อกับลูกหลาน และจะต้องจัดให้มีการบูชาหรือบวงสรวงดวงวิญญาณมเหศักดิ์ปีละ 1 ครั้งในราวเดือน 6 – 7 ของทุกปีที่เป็นประเพณี สืบทอดกันมาแต่โบราณที่เรียกว่า การลงข่วง ผู้ที่เคารพนับถือ หรือลูกหลานจะต้องเตรียมเครื่องสักการะที่ประกอบด้วย เทียนเวียนหัว (ศีรษะ) 1 เล่ม หมากพลู บุหรี่ 1 พาน ไก่ต้มสุก 1 ตัว สุรา 1 ขวด และ ดอกไม้ ธูปเทียนสำหรับเครื่องบวงสรวงนั้นจัดเป็นพาขวัญ 1 สำรับสูง 9 ชั้นที่ประกอบด้วย หัวหมูควบด้วยเท้าและหางต้มสุก ไก่ต้มสุก 1 ตัว มะพร้าวอ่อน 1 ลูก กล้วยสุก 1 หวี สำรับคาว หวาน หมากพลู บุหรี่ ขนม 5 อย่าง ผลไม้ 5 อย่าง ดอกไม้ ธูป เทียน น้ำอบ น้ำหอม ขัน 5 ใช้คารวะมเหศักดิ์ สุรา 1 ขวด โดยทำพิธีในการถือฤกษ์ เวลา ประมาณ 08.00 น.ไปจนจบพิธีการ และจะมีการฟ้อน เบิกดาบพระขรรค์ในภาคบ่ายประมาณ 14.00 น.

ซึ่งในการเคารพนับถือมเหศักดิ์นี้ กระทำเพื่อขอพรจากมเหศักดิ์ให้ปกปักษ์รักษา คุ้มครองให้ประชาชน ชาวบ้านในภาคอีสานที่เคารพนับถือให้มีความร่มเย็น ปราศจากเภทภัยทั้งปวง ให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารมีความอุดมสมบูรณ์ หรือเป็นนัยที่ต้องการสร้างพลังศรัทธาในความเป็นคนที่มีความกตัญญูรักพี่น้อง บรรพบุรุษ มีความสามัคคีในหมู่คณะและตั้งใจประกอบอาชีพโดยสุจริตอีกด้วย

9. แท่นปูน 3 ชั้น (ฐานประภาคาร) เป็นแท่นปูนซีเมนต์ ที่ยึดติดกับหินที่ใจกลางแก่งสะพือ ห่างจากฝั่ง80 เมตร ที่มีส่วนผสมของหินกรวด ทราย และซีเมนต์ ชั้นแรกฐานเป็นหินทรายตามธรรมชาติ ชั้นที่ 2 กว้าง 2.01 เมตร สูง 0.70 เซนติเมตร และชั้นบนสุดกว้าง 1.48 เมตร สูง 0.56 เมตร มีรูตรงกลางเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.45 เมตร ลึก 1.25 เมตรเป็นที่สำหรับปักเสาประภาคารในการกำหนดเส้นทางเดินเรือในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามอินโดจีน)

10. ตึกดิน ตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงราษฎร์ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากแก่งสะพือประมาณ 120 เมตร จากการค้นคว้าทราบได้ว่าเป็นอาคารพานิชย์สร้างในราว พ.ศ. 2475 โดยช่างชาวจีนและชาวญวนที่อพยพ ค้าขายมาทางเรือกลไฟตามลำน้ำมูล โดยเป็นสถาปัตยกรรม อาคารตึกดินชั้นเดียวแบบจีน มีลักษณะของตัวอาคารก่อสร้างด้วยอิฐดินดิบที่มีส่วนผสมของดินเหนียว แกลบ ฟางข้าว น้ำอ้อย กาวหนัง และยางบงที่นวดเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงขึ้นรูปเป็นก้อน สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 5  10  5 นิ้ว โดยประมาณ เมื่อนำไปตากแดดจนแห้งจึงนำมาก่อเป็นผนังอาคาร สอด้วยดินโคลนแล้วจึงฉาบด้วย “สะทายโบก” ที่มีส่วนผสมของปูนขาว 5 ส่วน ทราย 7 ส่วน น้ำอ้อย 2 ส่วน น้ำหนัง 1 ส่วน และยางบง 9 ส่วน ทำให้มีการระบายถ่ายเท ของอากาศ

ได้ดีเพราะที่เหนือเพดานขึ้นไปใช้ไม้ไผ่ขัดปูทับด้วยดินเหนียวก่อนจึงมุงด้วยสังกะสี เหนือประตูขึ้นไปหรือที่เรียกว่า หน้าบรรณ ฉาบด้วยปูนสอเป็นลายดอกพิกุล หรือบางอาคารเป็นลายไม้ฉลุ และตึกดินหลังนี้ท่านประธานโฮจีมินต์แห่งเวียตนามเคยมาลี้ภัยอยู่ระยะหนึ่ง


สรุปและอภิปราย

แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำมูลตอนใต้ โดยเฉพาะบริเวณแก่งสะพือนี้ ได้มีความอุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมและทางพืชพรรณธัญญาหาร ภักษาหาร มังสาหาร เป็นอย่างยิ่งเพราะได้ถูกกำหนดโดยธรรมชาติที่มีภูมิลักษณะและภูมิประเทศที่เป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน มีเกาะแก่งหินที่มีตระใคร่น้ำสำหรับอาหารของปลากินพืช มีหาดทรายที่สะอาดกุ้งหอยที่เป็นแหล่งอาหารตามวงจรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก่งสะพือที่จะเป็นเขื่อนมีระบบการชลประทานโดยธรรมชาติเหมาะสำหรับการวางไข่ของปลาน้ำจืด และอยู่ในช่วงพักตัวของการอพยพของปลาที่มาจากแม่น้ำโขงที่ ลงตัวพอดี และยังสามารถติดต่อเชื่อมโยงไปได้อีกหลายเมืองอีกด้วยเพราะมีเส้นทางคมนาคมหลายๆเส้นทาง ที่ช่วยให้การดำรงชีวิตของกลุ่มชนในอดีต และ สืบทอดสู่ปัจจุบัน เป็นการสืบต่ออารยธรรมรุ่นต่อรุ่น และภูมิปัญญาของบรรพชนในอดีตที่สร้างสมกันมาในอดีตที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอันหลากหลายที่ทรงคุณค่าและมีความหมายที่อาจก่อให้เกิด อัตลักษณ์ ( Identity ) ของชาวพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ให้ได้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ต่อไปก่อนที่โลกาภิวัตน์จะบดบังในส่วนที่เป็นอารยธรรมของแก่งสะพือ แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำมูลตอนใต้ที่กำลังจะสูญสิ้นไป เฝ้ารอการศึกษาค้นคว้าจากโลกภายนอกเสมอ.

เอกสารอ้างอิง


คณะกรรมการ. หนังสือพิบูลมังสาหาร 139 ปี. อุบลราชธานี. เพิ่มพูลการพิมพ์, 2545

คณะกรรมการ. อุบลราชธานี 200 ปี. กรุงเทพฯ. ชวนพิมพ์,2535.

คณะกรรมการ.ประวัติเมืองโขงเจียม.อุบลราชธานี.รุ่งศิลป์การพิมพ์ออฟเซท,2540.

บำเพ็ญ ณ อุบล. เล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานี.อุบลราชธานี.ศิริธรรมออฟเซ็ท,2539.

ฝนวันจันทร์ ศรีจันทร์. การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของคนในเมืองประวัติศาสตร์ กรณีศึกษาเมือง

ประวัติศาสตร์พิมาย. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2543.(อัดสำเนา)

เรวัต สิงห์เรือง และคณะ. รายงานโครงการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแก่งสะพือแบบมี

ส่วนร่วม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน. สกว. อุบลราชธานี, 2549.

สถาบันราชภัฏสวนดุสิต. วิถีไทย. กรุงเทพฯ.เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด, 2543.

อัจฉรา ภาณุรัตน์. ทฤษฎีความรู้โลกาภิวัตน์และภูมิปัญญาท้องถิ่น. สถาบันราชภัฏสุรินทร์,2545.