วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เจ้าพ่อพละงุม ของชาวพิมูล

เจ้าพ่อพละงุม ของชาวพิมูล

ดร.เรวัต สิงห์เรือง ผอ.โรงเรียนเทศบาล 2 เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี


เจ้าพ่อพละงุม เป็นมเหศักดิ์ของชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่เคารพนับถือกันมาก บางความเชื่อกล่าวว่าเป็นเชื้อเจ้าชาวเมืองจำปาศักดิ์ที่มาตรวจราชการได้ถึงแก่อนิจกรรมลงที่ข้างสระแก้วซึ่งเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์หน้าวัดสระแก้ว ที่ใช้ชำระร่างกายก่อนเข้าทำพิธีทางศาสนา เหล่าทหารจึงฝังศพเจ้าพ่อพละงุมพร้อมกับแก้วแหวนเงินทอง ศาสตรา อาวุธไว้ที่นั่น แต่เดิมของศาลจะเป็นลักษณะเป็นเพิงมีเสาไม้แก่น 4 ต้น หลังคามุงหญ้า ยกพื้นสูงเพียงตา มีหมอนรูปทรง 3 เหลี่ยม(หมอนขิด)และเครื่องบูชา เซ่นไหว้ อยู่ทางทิศเหนือของสระแก้วข้างต้นตะเคียนทองคู่ในปัจจุบัน หรืออีกนัยหนึ่งอาจเป็นทหารที่ปกปักรักษา คุ้มครองปราสาทหินที่สร้างขึ้นมาดังปรากฏตามแผ่นหินที่ค้นพบเป็นรูปแกะสลักเป็นเทวรูปบนหินทรายที่รอการไขปริศนาจากนักโบราณคดีอยู่ ซึ่งเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันได้มีการสร้างศาลขึ้นโดยคนไทยคหบดีเชื้อสายจีน และชาวพิบูลมังสาหารที่เคารพศรัทธาได้อย่างสวยงามเพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะของชาวพิบูลมังสาหารโดยมีพิธีบวงสรวงบูชาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปีเสมอมา

ในลักษณะของมเหศักดิ์ที่ชาวอีสานได้นับถือยกย่องศรัทธามาตั้งแต่ในสมัยโบราณก่อนที่จะมีการ นับถือศาสนาพุทธ ชาวอีสานเชื่อกันว่าเป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วยังคงดูแลคุ้มครองลูกหลานให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข กระทำแต่ความดี มีความรักใคร่สามัคคีกันที่มี นางเทียม หรือ เฒ่าจ้ำ เป็นสื่อกลางที่ดวงวิญญาณสามารถติดต่อกับลูกหลาน และจะต้องจัดให้มีการบูชาหรือบวงสรวงดวงวิญญาณมเหศักดิ์ ปีละ 1 ครั้งในราวเดือน 6 – 7 ของทุกปีที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่โบราณที่เรียกว่า การลงข่วง ผู้ที่เคารพนับถือ หรือลูกหลานจะต้องเตรียมเครื่องสักการะที่ประกอบด้วย เทียนเวียนหัว ( ศีรษะ ) 1 เล่ม หมากพลู บุหรี่ 1 พาน ไก่ต้มสุก 1 ตัว สุรา 1 ขวด และ ดอกไม้ ธูปเทียนสำหรับเครื่องบวงสรวงนั้นจัดเป็น พาขวัญ 1 สำรับสูง 9 ชั้นที่ประกอบด้วย หัวหมูควบด้วยเท้าและหางต้มสุก ไก่ต้มสุก 1 ตัว มะพร้าวอ่อน 1 ลูก กล้วยสุก 1 หวี สำรับคาว หวาน หมากพลู บุหรี่ ขนม 5 อย่าง ผลไม้ 5 อย่าง ดอกไม้ ธูป เทียน น้ำอบ น้ำหอม ขัน 5 ใช้คารวะมเหศักดิ์ สุรา 1 ขวด โดยทำพิธีในการถือฤกษ์ เวลา ประมาณ 08.00 น.ไปจนจบพิธีการ ที่สำนักนางเทียม หรือ เฒ่าจ้ำ และจะมีการฟ้อนรำ เบิกดาบพระขรรค์คู่ สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงในการฟ้อนรำ ขับกล่อมที่ประกอบด้วย แคน ฉิ่ง ในจังหวะที่เร้าใจ และเหล่านางเทียมที่สวมชุดที่สวยงาม มีผ้าห่มสไบเฉียงที่มีสีแดงเป็นหลัก ทัดดอกไม้ที่หู แล้วมีการแห่แหนเจ้าพ่อพละงุมรอบเมืองโดยมีทหารเอกที่เป็นตัวแลน(กิเลน) และเต่าร่วมขบวนด้วย เพื่อให้ผู้เคารพศรัทธาเซ่นไหว้ด้วยน้ำอบ น้ำหอม ธูป เทียน ดอกไม้แดง โดยมีผู้สืบทอดเชื้อสายเจ้าพ่อพละงุมเป็นผู้ประพรมน้ำ เพื่อเกิดความร่มเย็นจนรอบเมืองจึงอัญเชิญเข้าไปประดิษฐานที่ศาลเจ้าแล้วทำพิธีบวงสรวงที่เป็นขันหมากเบ็ง เครื่องบายศรีสู่ขวัญ ตามขั้นตอนจึงมีการล่องส่งเครื่องสักการะบูชา และสิ่งที่ไม่ดีฝากไปในที่เป็นลักษณะเรือและบ้าน ลอยไปตามกระแสน้ำ จึงเสร็จพิธีแล้วมีการแสดงถวายตามประเพณีจนถึงบ่าย ค่ำ

ซึ่งในการเคารพนับถือมเหศักดิ์เจ้าพ่อพละงุมนี้ จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ลูกหลานชาวพิบูล มังสาหารกระทำขึ้นเพื่อขอพรจากมเหศักดิ์ให้ปกปักษ์รักษา คุ้มครองให้ประชาชน ชาวบ้าน ลูกหลานที่เคารพนับถือให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากเภทภัยทั้งปวง ให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารมีความอุดมสมบูรณ์ ทำมาค้าขายขึ้น มีความปลอดภัยในชีวิต ในการเดินทางและยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจหรือเป็นนัยที่ต้องการสร้างพลังศรัทธาในความเป็นคนที่มีความกตัญญูรักพี่น้อง บรรพบุรุษ มีความสามัคคีในหมู่คณะ รักถิ่นฐาน บ้านเกิด และตั้งใจประกอบอาชีพโดยสุจริตอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาวพิบูลมังสาหาร เป็นอัตตลักษณ์ของคน “เมืองพิมูล” สืบไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น